เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา รายจ่ายต้องห้าม

“เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร ค่าปรับทางอาญา”หมายถึง เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา ตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท รวมถึงค่าปรับที่เป็นโทษทางอาญา และเงินเพิ่มภาษีอากรตามกฎหมายอื่นด้วย ( ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 40/2560 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 ที่อ้างอิงคำพิพากษาฎีกา ที่ 1109/2559)

  • เบี้ยปรับ 
         เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร หรือละเลยไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมการเสียภาษีซึ่งส่วนใหญ่กฎหมายจะกำหนดให้รับผิดเป็นจำนวนหนึ่งเท่าหรือสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย อย่างไรก็ตามเบี้ยปรับนั้น อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  • เงินเพิ่มภาษีอากร
         เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากร
  • ค่าปรับทางอาญา
         เป็นจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย
  • ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้แก่
               (1) ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ชำระเมื่อครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) และเมื่อสิ้นรอบระยะเวลา (ภ.ง.ด. 50)
               (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ที่บริษัทถูกผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด
               (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทจะต้องรับผิดในกรณีที่บริษัทเป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทอื่นและมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย แต่บริษัทไม่ได้หักและ
                    นำส่ง ซึ่งบริษัทจะต้องรับผิดโดยเงินของบริษัทเอง
               (4) ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เกิดจากการจำหน่ายกำไรตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

     ข้อสังเกต ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งห้ามมิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากรหมายถึงภาษีเงินได้ที่บริษัทนั้นเองมีหน้าที่จะต้องเสียหรือมีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย

       สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ ประมวลรัษฎากรกำหนดเงื่อนไขไว้แล้ว ในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) บัญญัติว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (4) หรือภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”
     เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ภาษีอากร ค่าปรับทางอาญาตามประมวลรัษฎากร คือ จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 40/2560 เรื่อง เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับอาญา ตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร คณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยว่า เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาดังกล่าวให้หมายความรวมถึง “เบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท” นั้น

  • คำว่า “กฎหมายภาษีอากรทุกประเภท” หมายความรวมถึง กฎหมายภาษีอากร ที่จัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ้น อันได้แก่ 
       1.1 ภาษีอากรที่จัดเก็บโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ที่สังกัดกระทรวงการคลัง ดังต่อไปนี้
         (1) กรมสรรพากร
         ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
         ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
         ภาษีการรับมรดก ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
         ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558
  • กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นเพิ่มจากภาษีสรรพสามิต โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.  องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 เพื่อจัดเก็บจากสินค้าและบริการดังต่อไปนี้
         (ก) น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
         (ข) เครื่องดื่ม  
         (ค) เครื่องไฟฟ้า (เฉพาะโคมระย้าที่ทำจากแก้วเลดคริสตัลและแก้วคริสตัลอี่น ๆ)   
         (จ) รถยนต์ (รถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน)
         (ฉ) เรือยอชต์และยานพาหนะทางน้ำที่ใช้เพื่อความสำราญ
         (ช) ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง
         (ซ) พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น (เฉพาะที่ทำด้วยขนสัตว์)
         (ฌ) สถานบริการ (สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ สถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และ
               เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา)
         (ญ) หินอ่อนและหินแกรนิต (ปัจจุบันยกเว้นภาษี)
         (ฎ) รถจักรยานยนต์
         (ฏ) แบตเตอรี่
  • กรมศุลกากร จัดเกิบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2496 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 20 พ.ศ. 2548) และพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (แก้ไขเพิ่มเติ่ม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2548) จัดเก็บอากรขาเข้า จากสิ่งของที่นำเข้ามาในอาณาจักรจากผู้นำเข้า และอากรขาออกจากสิ่งของบางประเภทที่ส่งออกไปนอกอาณาจักรจากผู้ส่งออก นอกจากนี้กรมศุลกากรยังได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร จัดเก็บภาษีสรรพสามิตแทนกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยแทนกระทรวงมหาดไทย และจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมพิเศษแทนกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

1.2 ภาษีอากรที่จัดเก็บโดยหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย
     (1) ประเภทภาษีอาการที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดเก็บด้วยตนเอง ประกอบด้วย
          (ก) ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475
          (ข) ภาษีป้าย ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
          (ค) ภาษีบำรุงท้องที่ ตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508
          (ง) อากรฆ่าสัตว์ ตามกฎกระทรวงที่ออกโดยพระราชบัญญัติ ควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535
     (2) ประเภทภาษีที่กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บและจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
          (ก) ภาษีสุราและสรรพสามิต ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสุราและสรรพสามิต
          (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
          (ค) ภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ
          (ง) อากรรังนกอีแอ่น ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 ซึ่งจัดเก็บได้เฉพาะ 9 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎรธานี พัทลุง กระบี่ ตรัง พังงา สตูล
              และตราด
 1.3 ค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นค่าภาษี
     (1) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราและใบอนุญาตการเล่นการพนัน
     (2) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
     (3) ค่าธรรมเนียมน้ำบาดาล ค่าภาคหลวงและค่าธรรมเนียมป่าไม้ อากรประทานบัตร ใบอนุญาต และอาชญาบัตรการประมง
     (4) ค่าภาคหลวงแร่และค่าภาคหลวงปิโตรเลียม
     (5) รายได้จากเงินทีเก็บตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
     (6) ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับ ตามพระราชบัญญํติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เช่น การเก็บขยะ มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ฯลฯ ค่าใบอนุญาต
         เป็นรายได้ที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาตประกอบการ ค่าปรับ เป็นโทษทางอาญาและเป็นรายได้ที่เรียกเก็บจากผู้กระทำความผิด
         หรือละเมิดข้อบังคับ หรือกฎหมาย
     (7) ค่าปรับจราจรทางบก